ที่สุดแห่งปีกระทรวงพาณิชย์ยุคจุรินทร์ “ประกันรายได้เกษตรกร”ติดท็อปชาร์ต
(4 มกราคม 2564 )สำนักข่าว “CNA Online” ซึ่งเป็นหนึ่งในสำนักข่าวที่เป็นศูนย์รวมข่าวสารของสื่อมวลชนสายกระทรวงพาณิชย์ เขียนรายงานวิเคราะห์และจัดลำดับผลงานเชิงนโยบายที่ “เป็นที่สุดแห่งปี” เผยแพร่ผ่านทวิตเตอร์ CNA Online และช่องทางโซเชียลมีเดีย ระบุว่า มีครบทุกรส โดยจัดลำดับข่าว 11 เรื่องที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและประชาชน เป็นการสรุปรายงานพร้อมรายละเอียดของนโยบายอย่างชัดเจน ดังนี้
1.ประกันรายได้เกษตรกร
เป็นเรื่องที่เกษตรกรชอบมากที่สุดโดยขับเคลื่อน “โครงการประกันรายได้” สินค้าเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่ปี 2562 และได้ดำเนินการต่อเนื่องจนวันนี้และโครงการประกันรายได้ปีที่ 2 ได้ผ่านการอนุมัติการดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมันสำปะหลังเป็นตัวแรก ตามมาด้วยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว และยางพารา ส่วนปาล์มน้ำมัน ได้ต่ออายุโครงการเดิม และขณะนี้สิ้นสุดโครงการแล้ว รอที่จะเสนอเข้า ครม. สำหรับโครงการปีที่ 2ต่อไป ขณะนี้ ได้มีการคิกออฟจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรไปแล้ว โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ่ายส่วนต่างงวดแรก วันที่ 20 พ.ย.2563 ข้าว วันที่ 16 พ.ย.2563 มันสำปะหลัง วันที่ 1 ธ.ค.2563 และยางพารา วันที่ 11 ธ.ค.2563 และยังมีการจ่ายต่อเนื่อง เกษตรกรต่างดีใจกันถ้วนหน้า เพราะไม่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรจะตกต่ำ เนื่องด้วยมีเงินจากโครงการประกันรายได้เข้ามาช่วย
2.ลดราคาสินค้ามากครั้งที่สุด
ปี 2563 เป็นปีที่เรียกได้ว่า ไม่มีปัญหาสินค้าแพงให้ต้องหนักใจ เพราะด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว จากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคไม่มี การจะปรับขึ้นราคาสินค้า จึงทำได้ยาก ผลประโยชน์ก็เลยตกอยู่กับผู้บริโภค แม้ว่า สินค้าจะไม่ปรับขึ้นราคา แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งเฉย กลับเดินหน้าช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการร่วมมือกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ห้าง ร้าน ปรับลดราคาสินค้าลงมาอีก ชนิดที่เรียกว่าลดกันเดือนชนเดือน ประเดิมด้วยการจัดทำโครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน” ครั้งแรก จัดขึ้นในเดือนเม.ย.2563
เริ่มต้นด้วยการปรับลดราคาสินค้า 6 หมวดที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม อาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง ซอสปรุงรส ของใช้ในชีวิตประจำวัน ของใช้ชำระร่างกาย และผลิตภัณฑ์ซักล้าง รวม 72 รายการ ลดราคาตั้งแต่ 5-58% เริ่ม 6 เม.ย.-30 มิ.ย.2563 แต่โครงการล็อตแรก ยังไม่ทันจบ กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดตัวโครงการล็อต 2 ทันที จากนั้นทยอยเปิดตัวโครงการต่อเนื่อง ล็อต 3-7โดย ล็อต 5 เป็นล็อตลดราคา Back to School เพื่อช่วยลดภาระให้ผู้ปกครอง ปิดท้ายด้วย “พาณิชย์ลดกระหน่ำ! ข้ามปี New Year Grand Sale” มอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย
3.หน้ากากอนามัย ปั่นป่วนวุ่นวายที่สุด
นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 รอบแรก ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนม.ค.2563 ทำให้มีความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มสูงขึ้น และราคาก็ขยับขึ้นตามเป็นรายวัน ตอนนั้นกระทรวงพาณิชย์เชิญโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยที่มีอยู่มาประชุม ได้ข้อสรุปว่า หน้ากากอนามัย มีเพียงพอกับความต้องการใช้ แต่ไม่รู้ไปพูดหลุดอีท่าไหน ดันมีข่าวออกสื่อ มีสต๊อกหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง คือ มีวัตถุดิบสำหรับใช้ผลิตหน้ากากอนามัยได้ 200 ล้านชิ้น คนก็เลยจำภาพ ในสต๊อกมีหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น แต่พอหาซื้อไม่ได้ มีราคาแพง แล้วยังไปโผล่ขายทางช่องทางออนไลน์เต็มไปหมด สร้างความปั่นป่วนไปหมด ทุกคนก็มารุมโวยกระทรวงพาณิชย์ ทำให้ต้องประกาศขึ้นบัญชีควบคุมหน้ากากอนามัย กำหนดราคาขายไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท ส่วนที่นำเข้าให้บวกราคาได้สูงสุดไม่เกิน 60%
แต่ปัญหาก็ยังไม่ยุติ เพราะคนยังตามหาหน้ากากอนามัย จนนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งเด้งอธิบดีกรมการค้าภายในไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นัยว่า “เชือดโชว์ หาแพะ” เพราะไม่รู้จะแก้ปัญหาแบบไหนแล้ว ผลิตยังไง ก็ไม่พอความต้องการ หวังเพื่อจะลดกระแสคนไม่พอใจรัฐบาลลง แม้สุดท้าย จะคืนตำแหน่งให้ก็ตาม จากนั้นได้มีการจับเป็นรายวัน แถลงเป็นรายวัน จนปัญหาเริ่มเบาลง เพราะไม่มีคนติดเชื้อในประเทศ และมีการยกเลิกคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้ผลิตขายหน้ากากอนามัยในประเทศ เมื่อเดือนส.ค.2563 ทำให้หน้ากากอนามัย “มีเพียงพอ” ไปห้าง ร้านขายยา ตลาดนัด มีวางขายกันเกลื่อน ราคามีตั้งแต่ 50 ชิ้น 50 บาทไปจนถึงสูงสุด 125 บาท เพราะกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงแรกๆ ที่ทำได้เพียงวันละ 1.2 ล้านชิ้น เพิ่มเป็นวันละ 5 ล้านชิ้น
เข้าชมไซต์
พอมาเดือนธ.ค.2563 เกิดการติดเชื้อในประเทศจากตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร ขยายวงกว้างไปจนถึงบ่อน แล้วลุกลามไปเกือบทั้งประเทศ ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นรายวัน จนรัฐบาลต้องประกาศคุมเข้มบางจังหวัด หน้ากากอนามัยกลับมามีปัญหาอีกครั้ง จากที่เคยมีวางขาย ก็หายไปจากตลาด เพราะคนซื้อเพิ่มขึ้น แต่รอบนี้ ไม่มีปัญหาราคาแพง หรือการขายเกินราคา เพราะกระทรวงพาณิชย์เอาจริง จับจริง แล้วยังคุมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ หากพบการกระทำความผิด เล่นงานตามกฎหมายอย่างหนัก สรุปว่าเป็นสินค้าที่ป่วนตั้งแต่ต้นปี ยันปลายปี
4.ส่งออก ติดลบต่อเนื่องมากที่สุด
ก่อนเกิดโควิด9-19 ระบาด กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกปี 2563 ไว้ว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ 3% และเริ่มต้นปี ก็ดูท่าว่าจะไปได้ดี แม้ตอนนั้น จะมีปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย แต่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าเซลส์แมนประเทศ ได้แก้ปัญหาด้วยการนำคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปเจรจาซื้อขายสินค้าด้วยตนเอง โดยไปแล้วที่จีน อินเดีย สหรัฐฯ ตุรกี เยอรมนี ยอดขายกำลังปัง ทำรายได้เข้าประเทศแล้วหลายหมื่นล้าน จนแตะระดับแสนล้าน และมีเป้าที่เดินทางอีกรวม 18 ประเทศ สถานการณ์กำลังดีขึ้น
แต่พอมาเจอโควิด-19 ทุกอย่างต้องหยุดชะงักลง ก็เลยกระทบถึงยอดการส่งออกสินค้าไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลับมาดูที่ตัวเลขการส่งออก เดือนม.ค.2563 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปี 2563 การส่งออกกลับมาขยายตัว 3.35% เป็นการกลับมาเป็นบวกได้ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ทำให้หลายฝ่ายมองว่าการส่งออกน่าจะฟื้นตัวขึ้นแล้ว แต่เดือนก.พ.2563 ส่งออกกลับมาติดลบ 4.47% เพราะเริ่มได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และราคาน้ำมันที่ลดลง เดือนมี.ค.2563 กลับมาบวก 4.17% เพราะได้ผลดีจากการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มฟื้นตัวจากสงครามการค้า เดือนเม.ย.2563 ก็ยังโต 2.12% จากการส่งออกเพิ่มขึ้นของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม พอมาเดือนพ.ค.2563 ส่งออกติดลบสูงถึง 22.50% ติดลบมากที่สุดในรอบ 130 เดือน
5.ลงนาม “อาร์เซ็ป” เขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุด
หลังจากปี 2562 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียน สามารถผลักดันให้ 15 ประเทศ คือ อาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจา 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ยกเว้นอินเดีย บรรลุผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ได้แล้ว พอมาปี 2563 เป็นขั้นตอนของการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลง จนในที่สุด 15 ประเทศก็สรุปกันได้ และมีการลงนามกันผ่านการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2563 ฝ่ายไทยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนาม โดยมีผู้นำร่วมเป็นสักขีพยาน ผลจากการลงนามอาร์เซ็ป ทำให้เกิดเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกเกิดขึ้น เพราะอาร์เซ็ปครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มีจีดีพีรวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 30% ของจีดีพีโลก หลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเดินหน้าเปิดประโยชน์ภายใต้อาร์เซ็ป เพื่อชี้ช่องทาง ชี้โอกาสให้กับผู้ประกอบการไทย เพื่อที่จะได้เตรียมตัว เตรียมความพร้อมในการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่ใหญ่ที่สุดในโลก
6.บล็อกเชน“ข้าวอินทรีย์” ที่สุดแห่งความเชื่อมั่น
ปัจจุบันได้มีการนำบล็อกเชนมาใช้กับสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจ และเรียกความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นถึงจุดเด่นของบล็อกเชน และได้นำมาประยุกต์ใช้กับข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นสินค้านำร่องตัวแรก ชื่อโครงการ “บล็อกเชนข้าวอินทรีย์” โดยระบบสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า ข้าวอินทรีย์ถุงนี้ ใครเป็นคนปลูก ปลูกที่ไหน ใครผลิต ใครแปรรูป ทำที่โรงงานไหน รวมทั้ง จะรู้ว่าผ่านมาตรฐานใด ได้รับการตรวจรับรองจากหน่วยงานรับรองมาตรฐานหน่วยงานใด เรียกว่า รู้หมด ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยสามารถตรวจสอบได้ผ่านทางเว็บไซต์ TraceThai.com แค่สแกน QR Code หรือตรวจสอบจากเลขล็อตการผลิตบนฉลากสินค้าก็รู้ที่มาที่ไปได้เลย
7.Mirror-Mirror โครงการโดนใจที่สุด
หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการปรับรูปแบบการทำงานโดยเน้นช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ต้นแบบของการจัดกิจกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกของโลก คือ โมเดลการจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบ “Mirror-Mirror” จัดงานแสดงสินค้ารูปแบบ นี้เป็นครั้งแรกที่งานแสดงสินค้า Fashion World Tokyo Oct 2020 ระหว่างวันที่ 27–29 ต.ค.2563 ณ Tokyo Big Sight กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในครั้งนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นประธานเปิดงานผ่านระบบวิดีโอทางไกล โมเดล Mirror-Mirror คือ การส่งสินค้าตัวอย่างไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ โดยที่ผู้ประกอบการไทยไม่ต้องเดินทางไปร่วมงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้าในต่างประเทศสามารถสัมผัสสินค้าจริง มีทูตพาณิชย์ทำหน้าที่เป็นเซลล์แมนประเทศ มีล่ามเป็นพนักงานขาย ทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงให้ผู้ซื้อผู้ขายได้พบและเจรจาการค้าผ่านระบบออนไลน์เสมือนอยู่ในที่เดียวกัน
8.ทวงแชมป์ “ข้าวดีที่สุดของโลก”
มีข่าวดีส่งท้ายปี 2563 สำหรับการประกวดข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในงานประชุมข้าวโลก หรือ World Rice Conference จัดโดย The Rice Trader สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 1-3 ธ.ค.2563 และปี 2563 จัดพิเศษกว่าทุกปี คือ เป็นการจัดงานแบบออนไลน์ครั้งแรก ในการประกวดครั้งนี้ มี 5 ประเทศที่ส่งตัวอย่างข้าวเข้าประกวด ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา จีน และสหรัฐฯ มีข้าวที่ส่งไปทั้งหมด 20 ตัวอย่าง โดยไทยส่งไปเพียง 1 ตัวอย่าง คือ ข้าวหอมมะลิ 105 ที่ปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน ไทยกลับมาทวงแชมป์ได้อีกครั้ง โดยเวียดนามได้อันดับ 2 และกัมพูชาได้อันดับ 3 และเป็นแชมป์ครั้งที่ 6 จากที่จัดมาทั้งหมด 12 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2552 โดยผลการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา
9. ร้องเรียน “สายด่วน 1569” ฮอตที่สุด
ฮอตฮิตที่สุดในรอบปี 2563 คนโทรกระหน่ำมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น “สายด่วน 1569” ของกรมการค้าภายใน ในรอบปี 2563 มีประชาชนโทรเข้ามาร้องเรียนจำนวน 5,164 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวนกว่า 3,700 เรื่อง ตรวจสอบเสร็จแล้ว 4,643 เรื่อง พบมีความผิดและดำเนินคดี 583 เรื่อง ไม่พบความผิด 4,060 เรื่อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการ 521 เรื่อง โดยสินค้าที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด คือ หมวดของใช้ภายในบ้าน 2,556 คำร้อง และเรื่องที่ร้องเรียนมากที่สุด คือ หน้ากากอนามัย 2,470 เรื่อง ส่วนใหญ่ร้องเรียนการจำหน่ายเกินราคาและจำหน่ายราคาแพง โดยได้ดำเนินคดีไปแล้ว 435 คดี อยู่ระหว่างตรวจสอบอีก 88 เรื่อง ส่วนที่เหลือ 1,947 เรื่อง ตรวจสอบแล้วไม่พบความผิดปกติตามที่ร้องเรียน ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เป็นกลุ่มที่ร้องเรียนรองลงมา มี 1,557 คำร้อง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าไข่ไก่ มียอดร้องเรียนมากสุด 787 คำร้อง โดยได้ดำเนินคดีไปแล้ว 28 คดี
10. “ทุจริตถุงมือยาง” ฉาวที่สุดแห่งปี
กระทรวงพาณิชย์ มีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด คือ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งเดิมชื่อเสียง ก็ไม่ค่อยจะดีนัก เคยมีปัญหาที่เข้าไปพัวพันกับโครงการทุจริตในอดีต ทั้งการรับจำนำข้าว จำนำมันสำปะหลัง และพืชเกษตรตัวอื่น
More Stories
“เอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์”ผนึก“เกาหลี”จัดบิสสิเนส ฟอรั่มกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
“อลงกรณ์”ลุยตรวจตลาดจีน ติดตามปัญหาหนอนเจาะทุเรียน พอใจยอดส่งผลไม้ครึ่งปีเพิ่มขึ้น ทะลุแสนล้านครองแชมป์ตลาดจีนต่อเนื่อง
“เกษตรฯ.”จับมือญี่ปุ่นเดินหน้าโครงการแปรรูปสาหร่ายเป็นน้ำมันชีวภาพและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง