26/04/2024

AEC Online News

ข่าวด่วนออนไลน์

เผยข้อมูล “ผู้ต้องขังหญิง” ต้องโทษจำคุก ในความผิดไม่รุนแรง  เสนอ “มาตรการลงโทษแทนการจำคุก” แก้คนล้นเรือนจำ ในยุคโควิด-19

เผยข้อมูล “ผู้ต้องขังหญิง” ต้องโทษจำคุก ในความผิดไม่รุนแรง  เสนอ “มาตรการลงโทษแทนการจำคุก” แก้คนล้นเรือนจำ ในยุคโควิด-19

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชี้กระบวนการยุติธรรมเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เสนอใช้ “มาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ” แก้ปัญหานักโทษล้นเรือนจำ โดยเฉพาะผู้ต้องขังหญิงที่มักกระทำผิดคดียาเสพติด และมักถูกจำคุกในคดีความผิดที่ไม่รุนแรง ซึ่งทั่วโลกมีจำนวนผู้ต้องขังหญิงสูงขึ้นกว่า 50% ในรอบ 20 ปี เทียบกับ 20% ในกลุ่มผู้ต้องขังชาย ย้ำผู้เกี่ยวข้องเปลี่ยนบทลงโทษผ่านแนวคิดใหม่ที่ไม่เน้นเฉพาะการขังคุก และคำนึงถึงความแตกต่างด้านร่างกาย จิตใจ ระหว่างหญิงและชาย หวังผลักดันการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อสังคมที่ยั่งยืนแห่งอนาคต
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ กล่าวว่า “กระบวนการยุติธรรมทางอาญา และระบบเรือนจำได้เผชิญกับความท้าทายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้เห็นปัญหาที่ฝังรากลึกในกระบวนการยุติธรรมที่มีมาหลายทศวรรษ และยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื้อรังด้านความหนาแน่นของผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง ตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ และผู้หญิง”
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการรายงานการเสียชีวิตของผู้ต้องขังหญิงชาวอเมริกันจากเชื้อโควิด-19 หลังการคลอดบุตรไปเพียงไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นกรณีแรกของโลกที่มีรายงานการเสียชีวิตของผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งควรรภ์จาก


เชื้อโควิด-19 จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้องค์กรภาคีเพื่อการยุติธรรมทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา “นักโทษล้นเรือนจำ” ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวตลอดจนการเปลี่ยนพื้นฐานแนวคิดของการตัดสินโทษของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ผลกระทบจากโควิด-19 ได้แสดงให้เห็นถึงอุปสรรคของแนวคิด และกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในปัจจุบันที่ไม่สามารถไขปัญหาของสังคมอย่างยั่งยืน และนี่ถือเป็นวาระเร่งด่วนในการบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นมานานจากภาวะนักโทษล้นเรือนจำ ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากโควิด-19 ยังได้กระตุ้นเตือนให้ผู้ปฏิบัติงานด้านยุติธรรมคำนึงถึงความท้าทาย และจุดประสงค์ของโทษจำคุกให้ถ่องแท้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนมาตรการทางเลือกที่มีประสิทธิภาพมากกว่าและตอบโจทย์การส่งตัวผู้กระทำผิดเหล่านั้นคืนสู่สังคม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “มาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ” (Gender-responsive Non-Custodial Measures) คือ การใช้มาตรการอื่น ๆ นอกจากการคุมขัง โดยพิจารณาจากภูมิหลังที่ส่วนใหญ่ผู้ต้องขังหญิงมักจะถูกกระทำความรุนแรง หรือ ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาก่อน และพิจารณาจากความต้องการเฉพาะที่สอดคล้องกับเพศภาวะของผู้ต้องขังหญิง ที่มีสภาพร่างกายจิตใจที่แตกต่างจากผู้ต้องขังชาย เช่น การที่ผู้ต้องขังหญิงมีประจำเดือนทุกเดือน หรือตั้งครรภ์ระหว่างถูกคุมขัง ภาระการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเหตุนี้จึงทำให้ผู้ต้องขังหญิงมีความต้องการเฉพาะที่ต่างจากผู้ต้องขังชาย
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ กล่าวเสริมว่า งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า โทษจำคุกควรเป็นทางเลือกสุดท้ายในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้กระทำผิดหญิงส่วนใหญ่ที่กระทำความผิดโดยไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงหรือกระทำความผิดลหุโทษ ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกยังไม่ได้คำนึงถึงความต่างทางเพศสภาพ เช่น
ต้นสายปลายเหตุของกระบวนการทำให้ผู้หญิงกลายเป็นเหยื่อ (victimization) ความรับผิดชอบในการดูแลครอบครัวของเพศหญิง และความต้องการเฉพาะทางด้านสุขภาพใจและสุขภาพกายของเพศหญิงมากนัก


ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดีมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 30% โดยในปี พ.ศ.2560 พบว่า ทั่วโลกมีจำนวนผู้ถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดีเกือบ 3 ล้านคน ซึ่งในจำนวนดังกล่าว สัดส่วนของผู้หญิงที่ถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดีในบางประเทศเท่ากันหรือมากกว่าผู้หญิงที่ถูกตัดสินกระทำความผิดแล้ว ขณะที่บางประเทศ พบว่า สัดส่วนผู้คุมขังก่อนการพิจารณาคดีของผู้หญิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีมากกว่าผู้ชายเสียอีก
นางมิวา กาโต ผู้อำนวยการสายงานปฏิบัติการ สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กล่าวว่า จากงานวิจัยระบุว่า จำนวนประชากรผู้หญิงและเด็กหญิงที่ถูกคุมขังในเรือนจำทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นราว 53% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากความยากจน
การถูกเลือกปฏิบัติ และการถูกกระทำความรุนแรง ขณะที่จำนวนประชากรผู้ชายในเรือนจำทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น 20% จากตัวเลขดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนของนานาประเทศในการตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ “มาตรการทางเลือก” แทนการคุมขัง โดยพิจารณาถึงภูมิหลังและความต้องการเฉพาะของผู้กระทำผิดหญิง

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการประกาศใช้ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” หรือ “Bangkok Rules” อันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ความท้าทาย 2 ประการที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั่วโลกกำลังเผชิญในขณะนั้นจนถึงปัจจุบันที่ยังไม่สามารถบรรลุการแก้ไขปัญหา ได้แก่ 1. มุมมองที่สอดคล้องกับเพศภาวะ และ 2. มาตรการที่มิใช่การคุมขัง ยิ่งไปกว่านั้นความท้าทายดังกล่าวยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของ “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมที่ยั่งยืนแห่งอนาคต
“ท่ามกลางสถานการณ์และบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป องค์กรภาคีและผู้ปฏิบัติงานด้านยุติธรรมทั่วโลกควรตระหนักถึงการแก้ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างลึกซึ้ง มีการใช้บทลงโทษในการคุมขังที่มากเกินความจำเป็นหรือไม่ การตีความใหม่ของคำว่าอาชญากรรมที่ควรยึดโยงกับบทลงโทษ ตลอดจนสาเหตุของการกระทำความผิดนั้นด้วย” นางมิวา กล่าว

นางซาบรีนา มาห์ตานี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและหนึ่งในผู้ร่างคู่มือว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การ
คุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ กล่าวว่า “มาตรการที่มิใช่การคุมขัง” ควรที่จะได้รับการพิจารณาในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และคู่มือฉบับนี้ ได้เสนอแนะแนวทางและวิธีการเกี่ยวกับการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังที่สอดคล้องกับเพศภาวะ แก่ผู้พิพากษา อัยการ ทนายฝ่ายจำเลย พนักงานคุมประพฤติ บุคลากรด้านสาธารณสุข สื่อมวลชน และองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อลดการจำคุกผู้กระทำผิดหญิงในกรณีที่ไม่จำเป็น และส่งเสริมให้การจำคุกเป็นมาตรการสุดท้ายในการลงโทษทางอาญา
คู่มือฉบับนี้ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1. การบ่งชี้ความต้องการเฉพาะของผู้กระทำผิดหญิงที่และสาเหตุการกระทำผิด 2. มาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้ต้องขังหญิง ที่เป็นมาตรฐานและแนวทางในระดับสากลและระดับภูมิภาค ตลอดจนกรณีศึกษาและแนวปฏิบัติที่ดีในประเทศต่างๆ และส่วนที่ 3 คือ แนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้กระทำผิดหญิงในกรณีพิเศษ เช่น ผู้กระทำผิดหญิงที่รอดจากความรุนแรงทางเพศ ผู้หญิงชาวต่างชาติที่รอดจากการค้ามนุษย์ และประเวณี หรือผู้หญิงที่ถูกจับในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

สำหรับการสัมมนาออนไลน์ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแบ่งปันข้อมูล เครื่องมือ และประสบการณ์ระหว่างนานาประเทศในการสนับสนุนแนวคิดมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะเพื่อเป็นแนวทางในการลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำ และเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในระยะยาว โดยมีจุดมุ่งหมายในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ ข้อที่ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรมไม่แตกแยก และ ข้อที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับท่านที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดคู่มือว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ (Toolkit on Gender-Responsive Non- Custodial Measures) ได้ที่นี่
https://www.tijthailand.org/highlight/detail/-launch-of-the-toolkit-on-gender

 

You may have missed