13/11/2024

AEC Online News

ข่าวด่วนออนไลน์

บทบาท “บุหรี่ไฟฟ้า” ในภารกิจละ – เลิกสูบ  งานวิจัยในต่างประเทศเผย “ตัวช่วยนี้” เพิ่มอัตราเลิกบุหรี่ได้มากกว่าเท่าตัว

บทบาท “บุหรี่ไฟฟ้า” ในภารกิจละ – เลิกสูบ  งานวิจัยในต่างประเทศเผย “ตัวช่วยนี้” เพิ่มอัตราเลิกบุหรี่ได้มากกว่าเท่าตัว

 

 

พอถึงเดือนพฤษภาคมเมื่อใด เรามักจะได้เห็นแคมเปญรณรงค์ให้สิงห์นักสูบเลิกพฤติกรรมการสูบบุหรี่ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเนื่องจากวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) ซึ่งมาตรการที่นำเสนอให้กับผู้สูบบุหรี่ เช่น การโทรปรึกษาสายด่วน การหักดิบ หรือการใช้แผ่นแปะนิโคติน

แต่ที่ชวนสะท้อนใจอย่างยิ่งคือมาตรการเหล่านี้ได้ประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด เพราะจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2560 มีผู้สูบบุหรี่เพียง 20% ที่ตั้งใจเลิกบุหรี่ และในกลุ่มนี้เคยพยายามเลิกมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป แต่ก็ยังเลิกไม่ได้ หรือเราต้องมาตั้งคำถามว่า จะมีวิธีอื่นหรือไม่ที่จะมาช่วยสิงห์นักสูบให้ออกจากวงจรควันบุหรี่ได้

หากลองมองไปประเทศอื่น ๆ เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป หรือนิวซีแลนด์ จะเห็นว่า องค์กรทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศนั้น ๆ แนะนำให้ผู้สูบบุหรี่หันมาใช้ “บุหรี่ไฟฟ้า” เป็นตัวช่วยในการละ – เลิกสูบบุหรี่อย่างจริงจัง

 

หลักฐานชิ้นสำคัญมาจากงานวิจัยของ ดร. ปีเตอร์ ฮาเจค และ ทีมจากมหาวิทยาลัยควีนแมรี่ ออฟ ลอนดอน ซึ่งได้รับการเผยแพร่ทางวารสารการแพทย์นิวอิงค์แลนด์อันโด่งดังเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ผลวิจัยพบว่าร้อยละ 18 ของกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับบุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยในการละ – เลิกบุหรี่สามารถงดเว้นไม่สูบบุหรี่ได้จริงตลอดช่วงระยะเวลาเก็บข้อมูลที่ยาวนานถึง 1 ปี ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่เสพนิโคตินผ่านตัวช่วยอื่น ๆ อย่างเช่นหมากฝรั่งหรือแผ่นแปะนิโคตินสามารถละ – เลิกบุหรี่ได้จริงเพียงร้อยละ 9.9 เท่านั้น

ตัวเลขดังกล่าวมีความสำคัญในเชิงสถิติเพราะงานวิจัยชิ้นนี้ศึกษากลุ่มตัวอย่างมากถึง 886 คน จากบรรดาผู้ที่ไปขอรับบริการบำบัดเพื่อเลิกบุหรี่ผ่านระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของประเทศอังกฤษ ที่สำคัญ ระเบียบวิธีวิจัยยังชัดเจนเข้มข้น โดยทีมวิจัยมอบผลิตภัณฑ์ทดแทนสารนิโคตินจากบุหรี่ในรูปแบบแผ่นแปะ/หมากฝรั่ง หรือชุดบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่กลุ่มตัวอย่างแบบสุ่ม ผู้ที่ได้รับผลิตภัณฑ์ทดแทนสารนิโคตินจะได้รับผลิตภัณฑ์ไว้ใช้สูงสุดไม่เกิน 3 เดือนร่วมกับการบำบัดพฤติกรรมทุกสัปดาห์เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 4 สัปดาห์ ส่วนผู้ได้รับบุหรี่ไฟฟ้า (อุปกรณ์พลังงานไฟฟ้าที่จะนำนิโคตินเหลวหรือสารทดแทนอื่นเข้าสู่ร่างกายผ่านควันระเหยโดยไม่มีการเผาไหม้ใบยาสูบ) จะได้รับชุดอุปกรณ์ในครั้งแรกร่วมกับการบำบัดพฤติกรรมเท่านั้น ในกรณีที่ต้องการนิโคตินเหลวเพิ่มเติม จะต้องซื้อเพิ่มด้วยตัวเอง ทั้งนี้ ผู้วิจัยใช้กระบวนการทดสอบทางชีวเคมีร่วมกับบันทึกการบำบัดและอาการหายใจของกลุ่มตัวอย่างเพื่อยืนยันว่ามีการงดเว้นไม่สูบบุหรี่จริง โดยสรุปผลวิจัยจากกลุ่มตัวอย่างที่ยินยอมให้มีการตรวจจริงเท่านั้น

ทีมวิจัยจึงสรุปอย่างมั่นใจว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีประสิทธิผลในการเลิกบุหรี่มากกว่าการให้นิโคตินทดแทนบุหรี่ในรูปแบบอื่นเมื่อมีการบำบัดพฤติกรรมร่วมด้วย

ผลสรุปดังกล่าวกำลังโยกคลอนความเชื่อดั้งเดิมที่แพร่หลายอยู่ก่อนว่าบุหรี่ไฟฟ้าอาจจะไม่ได้ช่วยลดการสูบบุหรี่แต่อย่างใด นักวิจารณ์หลายคนถึงกับกล่าวหาว่าอุปกรณ์นี้อาจจะเป็นต้นเหตุให้คนหันมาสูบบุหรี่ด้วยซ้ำไป

อันที่จริง กระทรวงสาธารณสุขของประเทศอังกฤษประกาศอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่มากถึงร้อยละ 95 และยังคงสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่หันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดอันตรายจากการสูบและเพิ่มโอกาสในการเลิกสูบให้มากขึ้น

หลายฝ่ายอาจกังวลว่าบุหรี่ไฟฟ้ายังมีความเกี่ยวข้องกับ “สารนิโคติน” ที่มักถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร้ายคร่าชีวิตสิงห์นักสูบ แต่หากทุกฝ่ายพิจารณาข้อกังวลดังกล่าวอย่างถ้วนถี่จะพบว่านิโคตินแผ่นแปะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าสำหรับผู้สูบ ที่สำคัญ งานวิจัยหลายต่อหลายชิ้นระบุว่านิโคตินเป็นเพียงสารที่กระตุ้นให้เกิดการเสพติด ไม่ใช่ตัวการในการก่อมะเร็งเพราะอันที่จริงแล้วผู้สูบบุหรี่เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคร้ายเพราะควันบุหรี่ที่เกิดการเผาไหม้ของใบยาสูบต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ จึงควรมีการเผยแพร่ข้อมูล ข้อเท็จจริงและผลวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยด้วยเพื่อให้เกิดการพินิจพิเคราะห์อย่างกว้างขวางครบถ้วนว่าการประกาศให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในไทยเมื่อปี พ.ศ. 2557 นั้นยังถูกต้องเหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่

ถึงเวลาแล้วที่วันงดสูบบุหรี่โลกควรจะเป็นมากกว่าเทศกาลของการรณรงค์ หากแต่เป็นช่วงเวลาของการนำเสนอโอกาสที่จะ “ปลอดภัยจากควันบุหรี่” ได้จริงสำหรับทุกคน การสั่งห้ามใช้ ห้ามขาย ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าน่าจะมิได้เป็น “คำตอบที่ใช่” เพราะยังคงมีคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยมากกว่า 5 แสนคนในปัจจุบันโดยที่หน่วยงานราชการไม่มีโอกาสได้ควบคุมดูแลใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะกิจการค้าขายบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปแฝงตัวในตลาดมืดตั้งแต่เมื่อ 6 ปีก่อน สำหรับนักสูบที่ไม่เข้าสู่ตลาดใต้ดิน พวกเขาก็ยังคงเสี่ยงต่อโรคร้ายจากควันบุหรี่ต่อไปไม่ต่างจากผู้คนรอบตัวเขา สำหรับผู้ที่กังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงการติดโรคโควิด-19 จากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า องค์กรที่น่าเชื่อถืออย่างศูนย์วิจัยสื่อวิทยาศาสตร์ของประเทศแคนาดาได้ประกาศชัดแล้วว่ายังไม่มีหลักฐานใดที่จะระบุได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อหรืออาการของโรคดังกล่าว

แหล่งข้อมูล
https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa1808779

https://www.health.harvard.edu/newsletter_article/Nicotine_It_may_have_a_good_side

https://www.washingtonpost.com/outlook/five-myths/five-myths-about-vaping/2019/10/17/d3cc565e-f029-11e9-8693-f487e46784aa_story.html

https://www.mailman.columbia.edu/public-health-now/news/daily-e-cigarette-users-had-highest-rates-quitting-smoking

https://www.globenewswire.com/news-release/2020/04/17/2018148/0/en/FDA-Confirms-There-is-No-Link-Between-Vaping-and-COVID-19.html