“อลงกรณ์”เร่งเดินหน้าเศรษฐกิจสีน้ำเงิน(Blue Economy) เผยปี2565 ”ปลาทู”เพิ่ม 63% ชี้มาตรการปิดอ่าวของกรมประมงบรรลุความสำเร็จภายใต้นโยบาย”3ป.”ของรัฐมนตรีเกษตรฯ.
พร้อมประกาศปิดอ่าวไทยดีเดย์15ก.พ. คุ้มครองพ่อแม่พันธุ์ปลาทูและสัตว์น้ำมีไข่ หวังเพิ่มผลผลิตและฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2566 เพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์ปลาทูและสัตว์น้ำมีไข่ให้แพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน โดยมี นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกรมประมง สมาคมประมง องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น เข้าร่วม ณ สวนสาธารณะปากน้ำปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ซึ่งมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่บริเวณอ่าวไทยทั้งหมด แบ่งเป็น บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง 2 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถึงอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม – 14 มิถุนายน 2566 ในบริเวณอาณาเขตตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และบริเวณพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก 2 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคม 2566 ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในฝั่งตะวันตกของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร และระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในด้านเหนือของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี
สำหรับพิธีประกาศปิดอ่าวฯ ในวันนี้ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และกล่าวคำปฏิญาณตนที่บริเวณด้านหน้าอ่าวประจวบฯ พร้อมกล่าวเปิดพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ มีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2566 พร้อมทั้งได้มอบแผ่นป้ายเงินอุดหนุนโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านประมงให้กับผู้แทนองค์กรประมงท้องถิ่นทั่วประเทศ จำนวน 200 ชุมชน โดยมอบให้กับผู้แทนสมาคมประมงพื้นบ้าน และมอบป้ายเงินอุดหนุนให้แก่ประธานองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในเขตจังหวัดชุมพร จำนวน 4 ชุมชน ได้แก่ สมาคมประมงด่านสวี หมู่ที่ 3 ตำบลด่านสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ชุมชนประมงท้องถิ่นบ้านควนเสาธง หมู่ที่ 9 ตำบลตะโก อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร กลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านกลางอ่าว 1 หมู่ที่ 13 ตำบลบางมะพร้าว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร กลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านกลางอ่าว 2 หมู่ที่14 ตำบลบางมะพร้าว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
ประธานองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในเขตจังหวัดชุมพรประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 3 ชุมชน ได้แก่ กลุ่มแปรรูปอาหารทะเลบ้านเขาแดง ตำบลเขาแดง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านปากคลอง ตำบลบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนประมงและการท่องเที่ยวบางสะพาน ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และประธานองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรี จำนวน 3 ชุมชน ได้แก่ กลุ่มประมงพัฒนาสาหร่ายทะเลเพชรบุรี ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ตำบลบางขุนไทร อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง ตำบลนาพันสาม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี และได้มอบพันธุ์สัตว์น้ำให้แก่ตัวแทนชุมชนประมงท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวนรวมทั้งสิ้น 215,000 ตัว ประกอบด้วย กุ้งกุลาดำ 200,000 ตัว กุ้งแชบ๊วย 10,000 ตัว และปลากะพง 5,000 ตัว
จากนั้นนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดแผ่นป้ายประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ มีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2566 พร้อมพิธีปล่อยเรือตรวจประมงทะเลออกปฏิบัติงานในพื้นที่ ประกอบด้วย เรือตรวจประมงทะเลขนาด 60 ฟุต เรือตรวจประมงทะเล ขนาด 38 ฟุต เรือตรวจประมงทะเลขนาด 24 ฟุต เรือตรวจประมงทะเลขนาด 19 ฟุต และเรือยางตรวจประมงทะเล และได้เยี่ยมชมนิทรรศการจากหน่วยงานกรมประมงและนิทรรศการหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อาทิ นิทรรศการการจัดตู้แสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่เพาะพันธ์เพื่อการอนุรักษ์พร้อมบอร์ดแสดงข้อมูล นิทรรศการผลการศึกษาทางวิชาการมาตรการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน บริเวณอ่าวไทยตอนกลาง อ่าวไทยรูปตัว ก นิทรรศการมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลางและมาตรการปิดอ่าวไทยตอนในในภาพรวม รวมไปถึงมาตรการที่เกี่ยวข้อง นิทรรศการการลงทะเบียนเพื่อขอรับใบอนุญาตประมงพื้นบ้านและเตรียมความพร้อมก่อนลงทะเบียนขอรับใบอนุญาตประมงพื้นบ้าน นิทรรศการการควบคุมการทำประมงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมชุมชนประมง การอนุรักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (MMPA) นิทรรศการการจัดทำหนังสือคนประจำเรือ (Sea book) ฯลฯ
“ขอแสดงความชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับทุกภาคส่วน ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบาย 3 ป. คือ ป้อง ปราม ปราบ เพื่อให้พี่น้องชาวประมงร่วมมือและสร้างความเข้าใจต่อมาตรการ และลดความเสี่ยงต่อการละเมิดมาตรการ ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ที่กระทำผิด ซึ่งทั้ง 3 มาตรการนำมาซึ่งความสำเร็จ ทั้งนี้ ปริมาณการจับปลาทูในอ่าวไทยปีที่ผ่านมา (ปี 2565) จับได้ถึง 31,999 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,156.01 ล้านบาท มากกว่าผลการจับของปี 2564 ถึง 12,402 ตัน คิดเป็นมูลค่า 780.63 ล้านบาท หรือเพิ่ม 63 %ทั้งปริมาณและมูลค่าเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวประมงซึ่งถือเป็นสัญญาณอันดีที่แสดงถึงความเหมาะสมของการใช้มาตรการปิดอ่าวไทยอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือพี่น้องชาวประมงทุกภาคส่วน ร่วมกันรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ ที่จะป็นแหล่งรายได้ และขอให้ช่วยกันอนุรักษ์ป่าชายเลนด้วย เพราะจะเป็นที่อนุบาลของสัตว์น้ำ ภายใต้แนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจสีน้ำเงิน หรือ Blue Economy ในพื้นที่ก้นอ่าวไทย หรืออ่าวไทยโดยรวม ถือเป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายอลงกรณ์ กล่าว
ด้าน นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการปิดอ่าวไทยในปีที่ผ่านมา จากข้อมูลทางวิชาการ พบว่า การประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวไทย ทำให้พ่อแม่พันธุ์ปลาทูมีความสมบูรณ์เพศและมีการแพร่กระจายของลูกปลาทูและสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่นในพื้นที่ที่ประกาศใช้มาตรการอย่างชัดเจน ส่วนพื้นที่อ่าวไทยบริเวณบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเปรียบเทียบองค์ประกอบของลูกปลาทูและสัตว์น้ำชนิดอื่น พบว่า ระยะเวลาและพื้นที่บังคับใช้มาตรการ มีการปรับปรุงประกาศให้สอดคล้องกับสภาวะทรัพยากรและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา
อย่างไรก็ตามในการติดตามประเมินผลทางวิชาการของมาตรการฯ พบว่าในห้วงเวลาก่อนการประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลาง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 64 – 65) ในช่วงวันที่ 1 – 14 กุมภาพันธ์ พบพ่อแม่ปลาทูมีความสมบูรณ์เพศในอัตราที่สูงสุดถึงร้อยละ 100 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปลาทูมีความสมบูรณ์เพศก่อนช่วงมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง และพบความยาวเฉลี่ยของพ่อ-แม่ปลาทูอยู่ที่ 18.5 เซนติเมตร ซึ่งพร้อมสืบพันธุ์วางไข่จึงมีข้อเสนอแนะทางวิชาการว่าเห็นควรปรับปรุงมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลางให้สอดคล้องกับสภาวะทรัพยากรและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นของชาวประมงในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และสุราษฎร์ธานีเห็นด้วย โดยสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้มีข้อเสนอว่าควรปรับช่วงเวลาปิดอ่าวตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ในปี พ.ศ. 2567
More Stories
“อลงกรณ์”ลุยตรวจตลาดจีน ติดตามปัญหาหนอนเจาะทุเรียน พอใจยอดส่งผลไม้ครึ่งปีเพิ่มขึ้น ทะลุแสนล้านครองแชมป์ตลาดจีนต่อเนื่อง
“เกษตรฯ.”จับมือญี่ปุ่นเดินหน้าโครงการแปรรูปสาหร่ายเป็นน้ำมันชีวภาพและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
“อลงกรณ์”นำทีมไทยเยือนจีนขยายส่งออกกุ้งและผลไม้พร้อมสำรวจท่าเรือจ้านเจียงเปิดเส้นทางขนส่งสินค้าไปจีนเพิ่มโอกาสการค้า2ประเทศ