“รมว.เฉลิมชัย” มุ่งขับเคลื่อนพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากพอใจผลงาน สศก. โชว์ความสำเร็จ 3 ปี ยกระดับกลุ่มเป้าหมาย 1.32 ล้านราย สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เกิดมูลค่า 7.8 แสนล้านบาท
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามนโยบาย “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ที่มุ่งกระตุ้นการสร้างเศรษฐกิจรากฐานให้กับประเทศ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้ดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ โดยมุ่งเน้นภาพรวมในด้านต่าง ๆ ตลอดจนมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรม ซึ่งได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน เร่งดำเนินโครงการตามแผนงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไวที่สุด โดยมี สศก. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากมาตั้งแต่ปี 2563 และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนกระทรวงต่าง ๆ ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหน่วยงานอื่นของรัฐ ภายใต้ 3 แนวทางหลัก คือ แนวทางที่ 1 การพัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย (ต้นทาง) แนวทางที่ 2 พัฒนาผลิตภัณฑ์ และการให้บริการชุมชน (กลางทาง) และแนวทางที่ 3 การพัฒนาระบบบริหารจัดการและกลไกการตลาด (ปลายทาง) จนปัจจุบัน มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ รวม 22 โครงการ
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากมาตั้งแต่ปี 2563 โดย สศก. เป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการบูรณาการขับเคลื่อนแผนงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหน่วยงานอื่นของรัฐ ภายใต้ 3 แนวทางหลัก คือ แนวทางที่ 1 การพัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย (ต้นทาง) แนวทางที่ 2 พัฒนาผลิตภัณฑ์ และการให้บริการชุมชน (กลางทาง) และแนวทางที่ 3 การพัฒนาระบบบริหารจัดการและกลไกการตลาด (ปลายทาง) จนปัจจุบัน มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ รวม 22 โครงการ
ทั้งนี้ สศก. ได้ติดตามผลการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 -2565) พบว่า สามารถช่วยยกระดับกลุ่มเป้าหมายทั้งประชาชนผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรรายย่อย สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ผลิต/ผู้ประกอบการได้มากกว่า 1.32 ล้านราย รวม 4,337 กลุ่ม เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนมากกว่า 15,137 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็นมูลค่าจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนมากถึง 781,066 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมของผลสำเร็จที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ส่งผลให้หน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สศก. ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพ จะร่วมกับทุกหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการ ในการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากอย่างต่อเนื่องต่อไป
ด้าน ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า สำหรับปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ มีการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ทั้งสิ้น 15 โครงการ อาทิ โครงการบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส สามารถช่วยเข้าถึงที่ดินทำกิน และได้รับสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินทั้งเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 และเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 (ช) ได้ตามเป้าหมาย โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร สามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี เฉลี่ยครัวเรือนละ 6,298 บาท/รอบการผลิต และโครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร สามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/ชุมชนและวิสาหกิจชุมชน 729 แห่ง
นอกจากนี้ ในส่วนของกลุ่มโครงการที่ช่วยสร้างรายได้ ได้แก่ โครงการบริหารจัดการหนี้ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) โครงการส่งเสริมและสร้างทักษะในการประกอบอาชีพทั้งในและนอกภาคเกษตร
โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร และโครงการยกระดับศักยภาพเกษตรกรรุ่นใหม่และผู้ประกอบการ/วิสาหกิจชุมชน ในการผลิตสินค้าชุมชน ทั้ง 5 โครงการดังกล่าว ช่วยให้เกิดการรวมกลุ่มผลิต พัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น การผลิตสบู่/โลชั่นจากโปรตีนไหม ดอกไม้จันทน์ พวงหรีด แปรรูปหน่อไม้ มะพร้าวแปรรูป (เวชสำอาง) และผลไม้คุณภาพ สามารถสร้างรายได้ ให้กลุ่มเป้าหมายและเกษตรกรแล้วในเบื้องต้นเฉลี่ย 17,612 บาท/เดือน/ราย
ทั้งนี้ ภาพรวมการขับเคลื่อนทั้ง 15 โครงการ กลุ่มเป้าหมายได้รับการพัฒนาอาชีพในด้านต่าง ๆ และได้นำความรู้ ไปปฏิบัติใช้และต่อยอด มีการเชื่อมโยงตลาด รวบรวมผลผลิต ส่งเสริมเครื่องหมายตลาดสินค้าเกษตรในพื้นที่ ส่งผลให้ปี 2565 ชุมชนสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ คิดเป็นมูลค่า 244,189 ล้านบาท
สำหรับ ในปีงบประมาณ 2566 แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก มีแผนงานโครงการรวม 13 โครงการ โดย สศก. จะได้ติดตามและนำเสนอผลการดำเนินงานในระยะต่อไป ทั้งนี้ ท่านที่สนใจรายละเอียดของผลการดำเนินงานแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ที่ สศก. ได้ติดตามประเมินผล สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนประเมินผลแผนพัฒนาการเกษตร ศูนย์ประเมินผล สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2579 0507 ในวันและเวลาราชการ
More Stories
“เอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์”ผนึก“เกาหลี”จัดบิสสิเนส ฟอรั่มกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
“อลงกรณ์”ลุยตรวจตลาดจีน ติดตามปัญหาหนอนเจาะทุเรียน พอใจยอดส่งผลไม้ครึ่งปีเพิ่มขึ้น ทะลุแสนล้านครองแชมป์ตลาดจีนต่อเนื่อง
“เกษตรฯ.”จับมือญี่ปุ่นเดินหน้าโครงการแปรรูปสาหร่ายเป็นน้ำมันชีวภาพและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง