“อลงกรณ์”กำหนด10มาตรการมอบบอร์ดกุ้งฟื้นฟูพัฒนาฟาร์ม สร้างตลาด สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าปีหน้าผลิตกุ้ง 400,000 ตันภายใต้ยุทธศาสตร์กุ้งไทย
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาวันนี้ในหัวข้อ “ทิศทางการประมงและกุ้งไทย 2023” ใน “งานวันกุ้งดำเพชรบุรี” ภายใต้หัวข้อ “ปรับการเลี้ยง สร้างตลาด เพิ่มศักยภาพ กุ้งดำเพชรบุรี” โดยมี นายเฉลิม สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี นายชยานันท์ อินทรัตน์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำเพชรบุรี ส่วนราชการ ภาคเอกชนและเครือข่ายเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งเข้าร่วม ณ ห้องประชุมพะนอมแก้วกำเนิด อาคารสุเมธตันติเวชกุล มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี
นายอลงกรณ์กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดย รัฐมนตรี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนมีนโยบายพัฒนาและฟื้นฟูการประมงไทยให้กลับมาเข้มแข็งสร้างรายได้ให้กับชาวประมงและประเทศเพิ่มขึ้นครอบคลุมตั้งแต่ประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ประมงนอกน่านน้ำ ประมงเพาะเลี้ยงและอุตสาหกรรมประมงโดยได้แต่งตั้งตนเป็นประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาการประมงไทยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคการประมงของไทย
สำหรับการเพาะเลี้ยงกุ้งประสบปัญหาโรคกุ้ง และคุณภาพลูกพันธุ์กุ้งในขณะที่มีการแข่งขันในตลาดต่างประเทศสูงขึ้นทำให้การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล และอุตสาหกรรมต่อเนื่องถดถอย ผู้ประกอบการห้องเย็น และโรงงานแปรรูปที่ส่งออกกุ้งทะเลเป็นหลัก ต้องปิดตัวลงจากเดิมที่มีอยูเกือบ 200 แห่ง ปัจจุบันเหลือเพียง 20 แห่ง และปริมาณการผลิตกุ้งลดต่ำลงจนประเทศไทยที่เคยส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์กุ้งอยู่ลำดับต้นๆของโลกตกมาอยู่อันดับ6อับดับ7ในเชิงปริมาณและมูลค่าตามลำดับ รัฐมนตรีเกษตรฯ.จึงมีนโยบายให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) หรือบอร์ดกุ้งมีอธิบดีกรมประมงเป็นประธานมีกรรมการจากภาครัฐภาคเอกชนอุตสาหกรรมกุ้งและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งโดยได้กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนากุ้งไทยปี2564-2566มีเป้าหมายเพิ่มการผลิตกุ้งให้ได้ 400,000 ตันในปี2566
ซึ่งในปี2564และปีนี้มีการผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นคาดว่าจะเพิ่มจาก280,000ตันเป็น300,000ตันหรือ320,000ตันหากรวมกุ้งที่ผลิตและไม่ได้เข้าระบบAPDซึ่งมีประมาณขั้นต่ำ20%และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กุ้งไทยจึงกำหนด10มาตรการในการฟื้นฟูและพัฒนากุ้งไทย ดังนี้
1. การวิจัยและพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์
2.การพัฒนาพันธ์ุกุ้ง
3.การพัฒนาระบบการผลิต
4.ส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม
5.การยกระดับมาตรฐานฟาร์มและมาตรฐานอาหารกุ้ง
6.การแปรรูปกุ้งสู่เกษตรมูลค่าสูง
7.การพัฒนาระบบตลาด และกลไกราคา
8.การส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม และขจัดการผูกขาด
9.การใช้ประโยชน์จาก FTA ในการขยายตลาด
10.สร้างกลไกและเครื่องมือการบริหารใหม่ๆสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนากุ้งไทย
โดยบอร์ดกุ้งได้สร้างระบบประกันราคากุ้งขั้นต่ำโดยภาคเอกชนเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ปี2564จนถึงสิ้นปี2565เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาทำให้ราคากุ้งหน้าบ่อและตลาดกลางเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่กระทรวงเกษตรฯ.ได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล7,255ตำบลทุกจังหวัดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมของปีนี้จะเป็นกลไกการทำงานบนความร่วมมือในระดับพื้นที่รวมทั้งการเพาะเลี้ยงกุ้งในตำบลนั้นๆตลอดจนการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านกุ้ง(Shrimp Academy)ภายใต้โครงสร้างของAIC
ในส่วนกุ้งกุลาดำเคยเป็นพระเอกของกุ้งไทยเมื่อ20ปีก่อนๆที่กุ้งขาวจะมีการเพาะเลี้ยงเป็นส่วนใหญ่และวันนี้กุ้งกุลาดำกำลังกลับมา ทั้งนี้ จ.เพชรบุรี มีพื้นที่การเลี้ยงกุ้งประมารณหมื่นกว่าไร่ ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอขะอำ และบ้านแหลม ส่วนใหญ่เลี้ยงกุ้งทะเล กุ้งขาว ซึ่งประสบปัญหามีภูมิต้านทานน้อย เป็นโรคง่ายทำให้กุ้งตาย ส่งผลให้จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมีอัตราน้อยลง และส่งผลทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้นงานในวันนี้จึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้มีทางเลือกเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ซึ่งมีความอร่อย มีลักษณะเหนียว มีภูมิต้านทานโรคมากกว่ากุ้งขาว มีคุณภาพดีกว่า สร้างรายได้และยั่งยืนต่อไป
ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่จัดกิจกรรมในวันนี้และขอให้ประสบผลสำเร็จบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกประการ
สำหรับงานวันกุ้งดำเพชรบุรี จัดขึ้นโดยชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำเพชรบุรี ร่วมกับ กรมประมง สำนักงานประมงจังหวัดเพชรบุรี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงน้ำชายฝั่งเพชรบุรี ภายใต้หัวข้อ “ปรับการเลี้ยง สร้างตลาด เพิ่มศักยภาพ กุ้งดำเพชรบุรี” มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมสร้างความมั่นใจให้เกษรตรกรที่ประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งในจังหวัดเพชรบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงประมาณ 400 คน ได้รับทราบเทคนิคการเลี้ยง สถานการณ์ และแนวโน้มทิศทางการตลาดกุ้งกุลาดำ อีกทั้ง สนับสนุนนโยบายของกรมประมงในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลให้มีผลผลิต 400,000 ตันภายในปี 2566 นอกจากนี้ภายในงานยังกิจกรรมให้ความรู้ที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ การบรรยายเรื่อง “นโยบายกับการสนับสนุนผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำ” “สร้างตลาด เพิ่มศักยภาพ ทิศทางกุ้งดำเพชรบุรี” การเสวนา เรื่อง “ทางเลือกสายพันธุ์กุ้งดำ” ตลอดจนมีการออกร้านแสดงสินค้าของบริษัทฯ ผู้ค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำ ในด้านการเพาะเลี้ยงมาแสดงสินค้า และนวัตกรรมต่าง ๆ อีกด้วย.
More Stories
“เอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์”ผนึก“เกาหลี”จัดบิสสิเนส ฟอรั่มกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
“อลงกรณ์”ลุยตรวจตลาดจีน ติดตามปัญหาหนอนเจาะทุเรียน พอใจยอดส่งผลไม้ครึ่งปีเพิ่มขึ้น ทะลุแสนล้านครองแชมป์ตลาดจีนต่อเนื่อง
“เกษตรฯ.”จับมือญี่ปุ่นเดินหน้าโครงการแปรรูปสาหร่ายเป็นน้ำมันชีวภาพและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง